› สนง.ปลัดกระทรวงมหาดไทย
› หน่วยงานระดับกรม
› รัฐวิสาหกิจในสังกัด
› จังหวัด
หน่วยงานราชการต่าง ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทบาท/อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย

วิสัยทัศน์ เพื่อรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
               สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
การเป็นผู้นำนั้น ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือต้องออกตรวจจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด  
หลักโบราณก็มีอยู่ว่า
“จงคิด จงสั่ง จงตรวจ”  จากคำกล่าวข้างต้นขององค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้นำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับการตรวจราชการ เพื่อจะต้องออกไปตรวจตราพื้นที่ เพื่อให้เห็นสภาพข้อเท็จจริงของความเป็นอยู่ของราษฎรและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

วิสัยทัศน์ของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย

              ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินทำหน้าที่สอดส่อง ดูแลแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการการทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหลักการบริหารราชการแผ่นดิน มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ การกำหนดนโยบาย (Policy making) การนำนโยบายไปปฎิบัติ(Implementation) และการติดตามประเมินผล (Evaluation) การติดตามประเมินผล
เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อติดตาม กำกับ ดูแล และประเมินผล การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นกลไกการตรวจราชการ จึงเป็นเครื่องมือในการติดตาม กำกับ ดูแล และประเมินผล ตลอดจนเร่งรัดให้การปฏิบัติงาน ของหน่วยงาน ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ให้สมประโยชน์
ต่อราชการ สถานการณ์ ปัจจุบัน ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ผลจากการเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
โลกข้อมูลข่าวสาร ภาวการณ์แข่งขันที่ไร้พรมแดน การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ส่งผลกระทบต่อ
การบริหารราชการแผ่นดิน  นโยบายของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน
การตรวจราชการจึงต้องมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการตรวจราชการ ที่มุ่งเน้นสร้างความพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic readiness) ทั้งหน่วยงานปฏิบัติ (หน่วยรับตรวจ) และหน่วยตรวจราชการ ปัจจัยความสำเร็จในการปฏิบัติงาน
ของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นอยู่กับการบริหารงาน ๔ ด้าน คือ
๑. ด้านการบริหารยุทธศาสตร์
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การตรวจราชการแบบมีส่วนร่วม การสื่อสารสร้างความเข้าใจในทิศทาง กระบวนการตรวจราชการ 
การจัดทำคำรับรองการตรวจราชการ กับภาคีเครือข่ายระหว่างผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้ตรวจราชการกรม 
โดยการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ  ยุทธศาสตร์กระทรวง  ยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัด  พร้อมนำปัญหา
ข้อเรียกร้องความต้องการ ของภาคประชาสังคม เป็นปัจจัยนำเข้า ( Input)  บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การตรวจราชการ
ประจำปี ทั้งนี้ควรกำหนด แผนงาน/โครงการ นโยบายสำคัญเป็น ตัวชี้วัดผลงานการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวง
และผู้ตรวจราชการกรม  การจัดทำรายงานผลการตรวจราชการในรูปแบบของการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ
แผนงาน/โครงการนโยบายรัฐบาลและกระทรวง พร้อมทั้งการให้ข้อเสนอแนะเชิงพัฒนา ให้สามารถสะท้อนประสิทธิผล
ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า  และผลสัมฤทธิ์ (Result)  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืน แก่ประชาชน 
โดยใช้ยุทธศาสตร์การตรวจราชการเป็นแกนกลางในการดำเนินการ
๒. ด้านบริหารงานแบบบูรณาการ (Integration)
ภาครัฐ สามารถประสานความร่วมมือ และการสร้างทีมงานเป็นการผนึกพลังในการตรวจราชการ แบบบูรณาการการ
ตรวจราชการ ร่วมกับ กระทรวง กรม จังหวัด(หน่วยรับตรวจ) และบูรณาการเชิงพื้นที่ หน้าที่งาน และการมีส่วนร่วม
(Area – Function - Participation )  คำนึงถึง การมีส่วนร่วม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับประโยชน์ร่วมกัน”
ภาคประชาชน สร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ตรวจราชการ
ภาคประชาชน และภาคีทางสังคมทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจราชการ โดยรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ
เพื่อนำมา แก้ไขปรับปรุง และสะท้อนให้ผู้กำหนดนโยบายได้รับทราบ 
๓. ด้านการขับเคลื่อน/การตรวจราชการแนวใหม่
หลักการตรวจราชการแบบบูรณาการเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นไปตามมติ ครม. เห็นชอบ
เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๖ โดยเป็นการตรวจราชการที่ครอบคลุมทุกประเด็น มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนให้
ทุกส่วนราชการร่วมมือและสนับสนุนระบบการตรวจราชการแนวใหม่ ซึ่งเป็นการตรวจราชการเชิงรุก เป็นการป้องกันปัญหา
ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าให้ผู้บริหารหน่วยงาน รวมทั้งให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำ
เพื่อพัฒนาขีดสมรรถนะขององค์กรให้ดำเนินการที่เหมาะสม (Best Fit) มีการวิเคราะห์จัดลำดับที่สำคัญของแผนงาน/โครงการ
พื้นที่ดำเนินการ และประเด็นการสอบทานความเสี่ยงล่วงหน้า มีการประสานสนับสนุนจากทุกภาคส่วนราชการ
(Collaborative Network) ระหว่างผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี  ผู้ตรวจราชการกระทรวงต่าง  ผู้ตรวจราชการกรม
กับที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ร่วมกันให้ข้อมูลในการตรวจราชการและให้ข้อเสนอแนะเชิงพื้นที่        
การตรวจราชการเชิงยุทธศาสตร์ตามหลักธรรมาภิบาลเป็นการตรวจราชการโดยนำหลักการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ตามหลักธรรมาภิบาล (ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวน ๘ ประเภท)
ความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้มี ๓ ประเภท ได้แก่
              ๑) ความเสี่ยงด้านแนวทางการดำเนินงานไม่สอดคล้องกัน (Key Risk Area) คือ ขาดการประสานการดำเนินงาน ระหว่างภาคีหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง และไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลในเรื่อง หลักภาระรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Participation) และหลักการมีส่วนร่วม (Public Participation)
              ๒) ความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์ทางการเมือง (Political Risk) คือ การแผนและการบริหารโครงการ การไม่เป็นไปตาม
เป้าประสงค์ของผู้ใช้ประโยชน์และประเทศชาติอันเนื่องมาจากปัจจัยทางการเมือง และไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
ในเรื่อง หลักคุณธรรม (Virtue)  หลักความโปร่งใส (Transpasency) หลักความคุ้มค่า (Value for Money)
และหลักนิติธรรม (Rule of Law)
             ๓) ความเสี่ยงด้านการสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของประชาชน (Negotiation Risk) คือ ขาดการมีส่วนร่วมของ
ประชาชน เนื้อหาแผนงาน/โครงการไม่สามารถสนองตอบรับปัญหาของผู้มีส่วนได้เสียภายใต้กรอบเวลาที่สมเหตุสมผล
การกระจายผลประโยชน์ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล คือ หลักการมีส่วนร่วม (Public Participation) 
หลักความเสมอภาค (Equity) และหลักการสนองตอบรับ (Reponsiveness)  สิ่งเหล่านี้จะทำให้นโยบายของรัฐบาล ส่งผลผิดพลาดเบี่ยงเบนจากเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ จึงเป็นเหตุให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อเป็นการ วางมาตรการป้องกัน การสูญเสีย และการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงได้นำหลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงตามหลักธรรมาภิบาลมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงาน  และรวมถึงการ บริหารราชการแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินงานย่อมต้องมีปัญหา อุปสรรค และมีความเสี่ยง แต่ให้ในระดับเฝ้าระวัง ควบคุมและวางมาตรการให้ลดลงอยู่ในระดับยองรับได้ การวิเคราะห์โครงการภายใต้ ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) เพื่อให้แผนงาน/โครงการของรัฐบาลทึ่แต่ละกระทรวง รับผิดชอบสามารถผลักดันให้เกิดห่วงโซ่แห่งคุณค่า โดยคำนึงถึงแผนงาน/โครงการที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ  และปลายน้ำ โดยการตรวจราชการแบบบูรณาการฯร่วมกัน และนอกจากนี้ ยังมองภาพองค์รวมเพื่อมิให้มีการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกันจากแผนงาน/โครงการของแต่ละกระทรวง
๔.ด้านการพัฒนาระบบข้อมูล  
          พัฒนาการตรวจราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Inspection) ของการตรวจราชการเพื่อวางระบบฐานข้อมูลในระบบ
การตรวจราชการร่วมกันและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูล (Sharing/ Link) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ 
๑. ระดับสำนักนายกรัฐมนตรี   ๒. ระดับกระทรวง  ๓. ระดับจังหวัด  ๔. ระดับท้องถิ่น เพื่อบริหารข้อมูลผลการตรวจราชการ
เสนอต่อผู้บริหารระดับสูงแต่ละระดับ เพื่อประกอบการพิจารณา การแก้ไข ปัญหา การตัดสินใจ นำเสนอต่อไปยังรัฐบาล
และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและปรับเปลี่ยนนโยบายในแต่ละด้านหรือหาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายต่อไป
ปัญหา/อุปสรรค
              สมรรถนะการทำงานของหน่วยสนับสนุน ยังไม่เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากการตรวจราชการแบบบูรณาการ เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ เป็นระบบที่ต้องการอาศัยความรอบรู้ ทักษะ  ความเชี่ยวชาญ ในเชิงวิชาการ รวมทั้งมีการ ปรับเปลี่ยน โยกย้ายบ่อย ทำให้ไม่ต่อเนื่องเพราะมีความสำคัญที่ต้องอาศัยความรู้ แบบ Tacit Knowledge และต้องเป็นมืออาชีพ
การจัดทำรายงานผลการตรวจราชการ มีลักษณะวิชาการค่อนข้างมาก ทำให้ผู้บริหารไม่สนใจ และข้อเสนอแนะที่สำคัญ
ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารเท่าที่ควร รวมทั้งบางหน่วยงานยังไม่มีการปฏิบัติตาม ปัญหาการเข้าสู่ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการที่มีการเบี่ยงเบนไปจากหลักการที่พึงเป็น จึงทำให้ผู้ตรวจราชการบางท่าน ทำงานด้วยใจรัก และรู้สึกมั่นคง ที่ได้รับตำแหน่ง แต่บางท่านอาจทำงานโดยปราศจากการทุ่มเท ขาดความกระตื้อรื้อรน ส่งผลให้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ของการตรวจราชการยังเป็นปัญหาและมีการเปลี่ยนตัวบุคคลบ่อย จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องของงาน ขาดความต่อเนื่อง ในการประสานระหว่างหน่วยงาน
แนวทางแก้ไขปรับปรุง
              การสร้างค่านิยม วัฒนธรรม ให้กับบุคลากรในระบบการตรวจราชการ ให้มีกิจกรรมเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดี
สร้างขวัญ กำลังใจ เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพเป็นการเฉพาะ สร้างสม ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM)
แนวใหม่ อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในระหว่างเจ้าหน้าที่สนับสนุนการตรวจในระบบการตรวจราชการ
การแสวงหาพันธมิตร ผลักดันให้บุคลากรในระบบการตรวจราชการยอมรับคุณค่าในการตรวจราชการ การทำงานโดย
มุ่งผลสัมฤทธิ์ ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์สาธารณะ และสร้างความเป็นมืออาชีพ การพัฒนาคู่มือ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เข้าใจง่าย  การจัดทำรายงานให้กระชับ เฉียบคม เป็นที่น่าสนใจของผู้บริหาร หากไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ อาจส่งผลกระทบเสียหายต่อภาครัฐ และประชาชนอย่างร้ายแรง ต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแผนงาน/โครงการ
การพัฒนาเครื่องมือ นวัตกรรมทางด้านบริหารจัดการ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนา
องค์กรให้มีสมรรถนะสูง (High Performance )

***************


 

 

 

 

 

 
 
   

Inspection And Grivances Bureau
Best Viewed with Microsoft Internet Explorer 5.0 and Chrome or better @ 1024x768 Resolution High Color Text Size Smaller
Contact Tel: 0-2221-1126
Hotline : 50457 Email Address : moi0205.2@hotmail.com